หน้าแรก รอบรู้สมุนไพร สมุนไพร ยาไทย ใช้ได้ทุกฤดู

สมุนไพร ยาไทย ใช้ได้ทุกฤดู

21
0

สมุนไพรไทย เป็นสิ่งที่อยู่คู่คนไทยมานาน เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าและสืบทอดโดยผ่านกระบวนการเรียนรู้จากรุ่นสู่รุ่น บรรพบุรุษตั้งแต่สมัยโบราณต่างคุ้นเคยและรู้จักพืชสมุนไพรมานาน มีการใช้พืชสมุนไพรเป็นยารักษาโรค อาหารพื้นบ้าน และอื่น ๆ ซึ่งได้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน การใช้สมุนไพรในการบำบัดอาการเจ็บป่วยนั้นมีทั้งการใช้เพียงชนิดเดียว หรือรวมกันเป็นตำรับยา เพื่อการเสริมฤทธิ์ เสริมสรรพคุณ และลดฤทธิ์ของตัวยาบางตัวในตำรับ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาอันชาญฉลาดของบรรพบุรุษเราที่ทำให้การใช้ยาสมุนไพรมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการรักษาอาการเจ็บป่วยได้
ฤดูกาล ถือเป็นปัจจัยที่ทำให้ความสมดุลธาตุเปลี่ยนแปลงไปตามทฤษฎีการแพทย์แผนไทย ทำให้เกิดความไม่สบายหรือปัญหาสุขภาพต่างๆ ตามแต่ละฤดูกาล (อุตุปริณามชาอาพาธา) ในวันนี้ผมจึงนำข้อมูลของพิกัดยาตามหลักเภสัชกรรมไทยที่ใช้ในการดูแลสุขภาพในแต่ละช่วงฤดูกาล ตามบทความที่นำมาฝากทุกคนในวันนี้ “สมุนไพร ยาไทย ใช้ได้ทุกฤดู”ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาการใช้สมุนไพรที่มีประโยชน์และช่วยปรับสมดุลร่างกายในแต่ละช่วงฤดูกาลได้
ตามทฤษฎีการแพทย์แผนไทย ได้แบ่งฤดูกาลออกเป็น 3 ฤดู หลักๆ คือ

  • คิมหันตฤดู (ฤดูแห่งความร้อน กระวนกระวาย) หรือ ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 4 ถึง วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 สมุฏฐานเตโช พิกัดสันตัปปัคคี
  • วสันตฤดู (ฤดูที่ชุกไปด้วยฝน) หรือ ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 8 ถึง วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 สมุฏฐานวาโย พิกัดกุจฉิสยาวาต
  • เหมันตฤดู (ฤดูที่น้ำค้างตกลง) หรือ ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 12 ถึง วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 4 สมุฏฐานอาโป พิกัดเสมหะโลหิต

เมื่อเวลาหมุนเปลี่ยนจากฤดูหนึ่งเข้าสู่ฤดูหนึ่ง ก่อให้เกิดการกระทบต่อธาตุภายในร่างกาย กล่าวคือ เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน ร่างกายย่อมมีความร้อนในร่างกายเพิ่มมากขึ้นจากอิทธิพลความร้อนภายนอก (สมุฏฐานเตโช) ส่งผลให้อาการเจ็บป่วยมักเกิดจากพิกัดแห่งวาตะสมุฏฐาน และเสมหะสมุฏฐานระคนกันให้เป็นเหตุ เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูฝน เป็นช่วงที่ยังคงมีอากาศร้อนอบอ้าว ประกอบกับมีความชื้นสูง บางครั้งมีความหนาวเย็นผสมด้วย ทำให้ร่างกายมีความร้อนและความชื้นสะสมสูงขึ้น อากาศถูกแทรกด้วยไอน้ำมากขึ้น การหมุนเวียนของเลือดลมในร่างกายไม่เป็นปกติ ทำให้เกิดภาวะ “ลมหย่อน” (สมุฏฐานวาโย) จากนั้นเมื่อย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ร่างกายมีการปรับตัวอย่างมากจากสภาพอากาศมีความเย็นเพิ่มมากขึ้นและมีการแปรเข้าสู่ฤดูร้อนอีกครั้ง กระทบต่อธาตุน้ำภายในร่างกาย (สมุฏฐานอาโป) โดยเฉพาะพิกัดเสมหะและโลหิต ทำให้เกิดภาวะการเจ็บป่วยหรือโรคภัยไข้เจ็บตามฤดูต่างๆ ตามมาได้ ดังนั้นควรมีการเตรียมรับมือกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลต่างๆ ด้วย “พิกัดยาประจำฤดู” ดังนี้

  • พิกัด “ตรีผลา” (ตำรับยาประจำฤดูร้อน) ประกอบด้วยสมุนไพร 3 ชนิด ได้แก่ ลูกสมอพิเภก (Terminalia bellirica) ลูกสมอไทย (Terminalia chebula) และ ลูกมะขามป้อม (Phyllanthus emblica) สรรพคุณ แก้ปิตตะ วาตะ เสมหะ ในกองธาตุ กองฤดู กองอายุ และกองสมุฎฐาน
  • พิกัด “ตรีกฏุก” (ตำรับยาประจำฤดูฝน) ประกอบด้วยสมุนไพร 3 ชนิด ได้แก่ เหง้าขิง (Zingiber officinale) เมล็ดพริกไทย (Piper nigrum) และ ดอกดีปลี (Piper retrofractum) สรรพคุณ แก้วาตะ เสมหะ ปิตตะ ในกองธาตุ กองฤดู กองอายุ และกองสมุฎฐาน
  • พิกัด “ตรีสาร” (ตำรับยาประจำฤดูหนาว) ประกอบด้วยสมุนไพร 3 ชนิด ได้แก่ รากเจตมูลเพลิงแดง (Plumbago indica) เถาสะค้าน (Piper ribesioides) และ รากช้าพลู (Piper sarmentosum) สรรพคุณ แก้เสมหะ ปิตตะ วาตะ ในกองธาตุ กองฤดู กองอายุ และกองสมุฎฐาน

การใช้เบื้องต้นเพื่อการปรับสมดุลธาตุในการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลต่างๆ (ใช้ตำรับยาตามฤดูนั้นๆ) ให้นำตัวยาในปริมาณน้ำหนักยาที่เท่ากัน โดยนำมาต้มพอเดือด (15-20 นาที) ดื่มก่อนอาหาร เช้า – เย็น วันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 30 มิลลิลิตร โดยควรรับประทานในช่วงของการเปลี่ยนผ่านในแต่ละฤดู หรือเมื่อมีอาการไม่สบายในช่วงฤดูนั้นๆ และไม่ควรรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน ทั้งนี้นอกจากการใช้พิกัดยาประจำฤดูดังกล่าวแล้ว ควรเสริมเรื่องการรับประทานอาหารให้เหมาะสมตามช่วงฤดูกาล และควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมใดๆ ที่กระตุ้นให้เกิดการกระทบของธาตุในช่วงฤดูต่างๆ ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น เพื่อลดผลกระทบของสุขภาพที่จะเกิดขึ้นตามมา

เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับข้อมูลพิกัดยาตามฤดูกาลที่ผมเอามาฝากในวันนี้ ถือเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษเราที่สามารถนำมาใช้ในการดูแลตนเองได้อย่างยอดเยี่ยมและลดภาวะการเจ็บป่วยของตนเองได้อย่างดี วันนี้ผมก็ของลาไปเพียงเท่านี้ คราวหน้าจะนำข้อมูลดีๆ มาฝากกันอีก

ที่มา : ttmed.psu.ac.th