หน้าแรก ข่าวสมุนไพร วิสาหกิจชุมชนเปิดมุมมองโลจิสติกส์ 5 หมื่นล้าน ดันสมุนไพรไทยสู่ตลาดโลก

วิสาหกิจชุมชนเปิดมุมมองโลจิสติกส์ 5 หมื่นล้าน ดันสมุนไพรไทยสู่ตลาดโลก

1
0

ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น ฉลอง 10 ปี จับมือวิสาหกิจชุมชน Thai Herb Centers และกรมการแพทย์แผนไทย เปิดมุมมองโลจิสติกส์ 5 หมื่นล้าน กับแนวทางการผลักดันสมุนไพรไทยไปสู่ตลาดโลกอย่างมีคุณภาพ และยั่งยืน

เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 67 ในแวดวงสมุนไพรไทยมีการคาดการณ์กกันว่าในปี 2567 ตลาดสมุนไพรไทย จะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท และจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2569 โดยจะมีมูลค่าสูงถึง 59,500 ล้านบาท แน่นอนว่าย่อมเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการไทย-วิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศที่จะพัฒนาการผลิตตั้งแต่ต้นน้ํา กลางน้ํา ปลายน้ํา เนื่องจากประเทศไทยนับว่ามีศักยภาพทางด้านสมุนไพรอย่างมาก เพราะมีสมุนไพรกว่า 1,800 ชนิด มีการส่งออกวัตถุดิบสมุนไพรคุณภาพ และผลิตภัณฑ์สมุนไพรเป็นอันดับ 1 ใน Southeast Asia โดยเคยคิดเป็นมูลค่ากว่า 12,211 ล้านบาท อย่างไรก็ตามโจทย์สําคัญคือเราจะทําอย่างไรเพื่อส่งเสริมการพัฒนาสมุนไพร และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดทั้งในและต่างประเทศให้เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ และยั่งยืน

ในงานเสวนา “ก้าวทัน…โลจิสติกส์ผลักดันสมุนไพรไทยไปสู่ตลาดโลก” THPD x UTCC เนื่องในโอกาสฉลอง 10 ปี ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น และ 20 ปี สาขาวิศวกรรมโลจิสติกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มีบุคคลสําคัญในแวดวงโลจิสติกส์ และสมุนไพรที่เข้าร่วมงาน และแสดงความคิดเห็นที่น่าสนใจ อาทิ รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ (หลวงพี่น้ำฝน) เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม จังหวัดนครปฐม, ดร.พีระ อุดมกิจ สกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จํากัด, นพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สํานักปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นพ.กิตติ โล่สุวรรณรักษ์ ผู้อํานวยการสถาบันกัญชาทางการแพทย์ สํานัก ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, ภก.สัญชัย จันทร์โต ผู้ช่วยผู้อํานวยการองค์การควบคุมวัตถุเสพติด และนายธวัช จรุงพิรวงศ์ ประธานวิสาหกิจชุมชน Thai Herb Centers โดยมี ดร.วีรินทร์ทิรา นาทองบ่อจรัส หรือ ดร.ปอ เป็น Moderator การเสวนา และ อาจารย์ ดร.พิชญ์พธู ไวยโชติ รองอธิการบดีฝ่ายสื่อสารการตลาด เป็นพิธีกรภายในงาน ณ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า สาขาวิศวกรรมโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สร้างบุคลากรด้านโลจิสติกสอ์อกสู่ตลาดแรงงานแล้วกว่า 2,000 คน โดยเน้นทักษะในการออกแบบ และวางแผน บริหารจัดการกระบวนการโลจิสติกส์ ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน ส่วนหนึ่งคือการให้นักศึกษาได้ฝึกประสบการณ์กับ บริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น ผู้ที่มีอาชีพด้านนี้โดยตรง จะส่งผลให้นักศึกษาได้นําระบบโลจิสติกส์ นําเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านโลจิสติกส์มาใช้บริหารจัดการคลังพัสดุ ลดค่าใช้จ่ายด้านขนส่งให้เหมาะสมกับสถานการณ์ธุรกิจได้เป็น อย่างดี

ด้าน ดร.พีระ อุดมกิจสกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จํากัด กล่าวว่า ไม่นานมานี้ ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมพรีเมียร์ สมาร์ท ฟาร์ม (Premier Smart Farm) และวิสาหกิจชุมชน Thai Herb Centers โดยการนําของ ดร.มณิสรา บารมีชัย คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, ดร.ภคพงศ์ อมรกุล รองคณบดีฝ่ายวิชาการ มีคุณธวัช จรุงพิรวงศ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนฯ ให้ความรู้การผลิตกัญชาทางการแพทย์ และการผลิตสมุนไพร “ผลไพร” ได้แก่ ยาน้ํามันนวดผลไพร ยาดมสมุนไพรผลไพร และยาหม่องผลไพร ซึ่งเป็นการผลิตตั้งแต่ต้นน้ําถึงปลายน้ํา ได้ดําเนินการปลูกกัญชาทางการแพทย์ตามมาตรฐานระดับสากล จากสถาบัน SGS ประเทศโคลอมเบีย และเป็นฟาร์มปลูกกัญชาทางการแพทย์แห่งแรกในทวีปเอเชียที่ผ่านการรับรองมาตรฐานดังกล่าวด้วย

“การผ่านการรับรองมาตรฐานการปลูก และเก็บเกี่ยวที่ดี นําไปสู่การบูรณาการความร่วมมือด้านโลจิสติกส์ และด้านวิชาการ เพื่อผลักดัน และยกระดับสมุนไพรไทยสู่ตลาดการค้าโลก นอกจากจะมุ่งมั่นผลิตกัญชาทางการแพทย์แล้ว ยังมีความพยายามที่จะยกระดับการผลิตกัญชาทางการแพทย์ ตลอดจนผลิตภัณฑ์สมุนไพรผลไพร เพื่อจําหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อสร้างโอกาสเติบโตทางธุรกิจ โดยมีเป้าหมายเพื่อต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีการผลิตกัญชาทางการแพทย์ที่มีองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญที่ทันสมัย เชื่อว่าจะมีบทบาทสําคัญต่อการผลักดันการผลิตกัญชาทางการแพทย์ทั้งในไทย และในระดับเอเชีย ซึ่งรวมทั้งสมุนไพรอื่นๆ บริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จํากัด และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จะได้ร่วมมือด้านโลจิสติกส์ และด้านวิชาการ เพื่อผลักดันและยกระดับสมุนไพรไทยสู่ตลาดการค้าโลกต่อไปในอนาคต ให้สมกับที่เราเป็นผู้นําด้านการขนส่ง “ส่งยาก ส่งเย็น ส่งใหญ่ ส่งเยอะ” ดร.พีระ กล่าว

ขณะที่ นายธวัช จรุงพิรวงศ์ ประธานวิสาหกิจชุมชน Thai Herb Centers กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากตลาดสมุนไพรไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง มูลค่ามากถึง 50,000 ล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นทุกปี ทําให้มองว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องมาช่วยกันทั้งผู้ประกอบการเอง ภาครัฐ และสถาบันการศึกษาวิจัย ที่ต้องให้ความสําคัญกับการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์การแข่งขัน ทันตลาด โดยเฉพาะในตลาดโลกที่สมุนไพรไทยยังไปได้อีกไกลมาก ซึ่งที่ผ่านมาวิสาหกิจชุมชน Thai Herb Centers ได้พยายามพัฒนาการผลิตสมุนไพรไทยมาอย่างหลากหลายและต่อเนื่อง จนสามารถปลูกกัญชาทางการแพทย์ในฟาร์มปลูกกัญชาทางการแพทย์แห่งแรกในทวีปเอเชีย และผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรแบรนด์ “ผลไพร” ออกวางจําหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ในขั้นแรกนับว่าประสบผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจ ทั้งยาดม ยาหม่อง สมุนไพรหอม ฯลฯ ทําให้มองว่าสมุนไพรไทยน่าจะได้รับการส่งเสริมสนับสนุนให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้อีกทางหนึ่ง เพราะเป็นที่รู้จักในตลาด โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออก และในยุโรป

“ในปัจจุบันกระบวนการในการวางแผน ดําเนินการ และควบคุมประสิทธิภาพในการส่ง และการจัดเก็บสินค้าและบริการ นั้นนับว่าสําคัญมาก เพราะทุกวันนี้ส่วนใหญ่เราซื้อขายกันผ่านทางออนไลน์ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน จําเป็นต้อง พัฒนาการจัดการโลจิสติกส์ โดยจัดการส่งสินค้าให้ถึงมือลูกค้าอย่างรวดเร็ว และมีคุณภาพ จึงจะทําให้การทําธุรกิจสมุนไพรไทยมีความยั่งยืน สิ่งสําคัญผมอยากเห็นแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือการรวบรวมผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยในโลกออนไลน์ เพื่อให้ลูกค้าทั้งโลกได้มาช็อปปิ้งได้ในที่เดียวกัน ซึ่งถ้าสามารถบริหารจัดการได้จะช่วยเพิ่มมูลค่าสมุนไพรไทย เช่นเดียวกับบริษัทอีคอมเมิร์ซระดับโลกที่คนไทยนิยมใช้ในปัจจุบัน” ประธานวิสาหกิจชุมชน Thai Herb กล่าว

นับเป็นมุมมองเรื่องโลจิสติกส์ที่น่าสนใจ เพราะหากทําได้ย่อมจะช่วยผลักดันสมุนไพรไทยให้ก้าวไปในตลาดโลกอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน อย่างไรก็ตามโจทย์สําคัญคือ ภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ผลิตทั้งเอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน ตลอดจนผู้ประกอบการทั้งประเทศจะมองเห็น “โอกาส” เหมือนกัน และพร้อมจะก้าวไปในทิศทางเดียวกันหรือยัง.

ขอบคุณที่มา : thairath